รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่าThursday, November 21st, 2024 at 12:06pm
หูดับเฉียบพลัน +!

หูดับเฉียบพลัน (Sudden Sensorineural Hearing Loss) อาการดังกล่าวเป็นภาวะการสูญเสียการได้ยินที่เกิดจากประสาทรับเสียงบกพร่องทันทีทันใด พบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิงทุกช่วงวัย ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด อาจเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหู การติดเชื้อไวรัส เนื้องอกที่ประสาทหู หรืออาจเกิดจากมีความผิดปกติของสมอง โรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง

อาการของภาวะหูดับเฉียบพลัน

– สูญเสียการได้ยินแบบเฉียบพลัน โดยมักเกิดในหูข้างใดข้างหนึ่ง
– มีเสียงดังรบกวนในหู
– มีอาการหูอื้อก้อง
– อาจมีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย
– การตรวจวินิจฉัย

หากมีความผิดปกติตามอาการข้างต้นเกิดขึ้น แนะนำให้รีบพบแพทย์เฉพาะทาง หู คอ จมูก เพื่อซักประวัติและรับการตรวจร่างกาย รวมถึงตรวจการได้ยินด้วยเครื่อง Audiometer และตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ

การรักษาภาวะหูดับเฉียบพลัน

– รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
– พักผ่อนให้เพียงพอ
– งดการฟังเสียงดัง หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงดัง
– แพทย์ทำการนัดหมายเข้ารับการตรวจติดตามอาการ และตรวจการได้ยินเพื่อประเมินและวางแผนการรักษาในลำดับต่อไป

Cr. โรงพยาบาลเจ้าพระยา

#รู้ไว้ใช่ว่า_สุขภาพ #รู้ไว้ใช่ว่า #ความรู้รอบตัว
รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่าWednesday, November 20th, 2024 at 12:01pm
“โรคย้ำคิด ย้ำทำ (OCD)” อาการเป็นอย่างไร +!

อาการย้ำคิดร่วมกับย้ำทำ โดยพบร้อยละ 80 โดยที่เหลืออีกร้อยละ 20 มีแต่อาการย้ำคิด 46 ซึ่งพฤติกรรมที่มักจะเป็นและสังเกตได้ชัดก็มีดังต่อไปนี้

อาการย้ำคิด

• กลัวความสกปรกมากกว่าปกติ กลัวติดเชื้อโรคจากการหยิบจับหรือสัมผัสสิ่งต่างๆ

• เกิดความไม่สบายใจทันทีถ้าเห็นความไม่เป็นระเบียบ สิ่งของที่จัดไม่เท่ากัน ไม่เรียบร้อย ไม่สมดุล

• วิตกกังวลถึงความปลอดภัยในการใช้ชีวิต เช่น คิดว่าลืมปิดเตาแก๊ส ลืมล็อกประตู หรือเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

• มีความคิดยึดติด หรือเชื่ออย่างรุนแรงเกี่ยวกับเรื่องศาสนาหรือเรื่องเพศ

อาการย้ำทำ

• ล้างมือบ่อยๆ แบบเกินความจำเป็น หรือทำความสะอาดสิ่งของต่างๆ แบบซ้ำๆ

• ตรวจความเรียบร้อยซ้ำๆ อย่างการไปปิดแก๊ส ล็อกประตู เดินไปดูแล้วดูอีก เดินเข้าเดินออก

• จัดระเบียบหรือจัดสิ่งของต่างๆ แบบที่มีลักษณะเฉพาะตัว เช่น ต้องหันไปทิศทางเดียวกันทั้งหมด

• มักจะต้องทำทุกสิ่งให้ครบตามจำนวนที่ตนเองกำหนดไว้

• ชอบเก็บสะสมสิ่งของมากเกินความจำเป็น

ถึงแม้ว่าโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ปัจจุบันนี้ก็มียาที่สามารถช่วยบรรเทา และควบคุมอาการอยู่เช่นกัน รวมถึงการรักษาโดยการบำบัดด้วย ซึ่งการใช้ยานั้นโดยปกติยาที่แพทย์มักใช้กับผู้ป่วยโรคย้ำคิด ย้ำทำนี้มักจะใช้ยาในกลุ่มแก้โรคซึมเศร้า ซึ่งก่อนรับยาจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ พูดคุยอย่างละเอียดเสียก่อน

เช็กตัวเองอย่างไร ใช่โรคย้ำคิด ย้ำทำ หรือไม่

ถ้าคุณคิดว่าไม่แน่ใจ ว่านิสัยชอบทำอะไรซ้ำๆ นี่ใช่โรค OCD หรือเปล่า ให้ลองพิจารณาดูว่า หากการย้ำคิดย้ำทำนั้นเริ่มกระทบกับชีวิตประจำวัน สร้างความวิตกกังวล ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานและหยุดคิดไม่ได้ หรืออาจทำให้เกิดผลกระทบทางร่างกาย เช่น พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป หรือล้างมือบ่อยเกินไปจนเริ่มมีปัญหาทางผิวหนัง และที่สำคัญอาการย้ำคิด ย้ำทำมักจะทำให้ผู้ป่วยต้องเสียเวลาโดยไม่จำเป็นไปกับพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่า 1 ชั่วโมงในหนึ่งวันด้วย

Cr. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

#รู้ไว้ใช่ว่า_สุขภาพ #รู้ไว้ใช่ว่า #ความรู้รอบตัว
รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่าTuesday, November 19th, 2024 at 11:48am
จิตวิทยาภาษากาย…เพราะร่างกายไม่เคยโกหก +

ภาษากาย หรือ Body Language เกิดจากสมองมนุษย์ส่วนลิมบิกเพื่อสั่งการผ่านมาทางสีหน้า แขน ขา ลำตัว ปรากฏต่อภายนอกที่คนอื่นสามารถสังเกตเห็นได้ และเป็นปฏิกิริยาตอบสนองที่ซื่อตรง ทำให้ถือว่าเป็นการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผู้อื่นสามารถสังเกตได้ และมีคำพูดที่พูดต่อๆกันมาว่า หากเราเชื่อคำพูดของผู้พูดไม่ได้ ให้สังเกตปฎิกิริยาภาษากายดู เพราะร่างกายไม่สามารถโกหกได้

ถ้าถามว่า ทำไมเราต้องเรียนรู้ภาษากาย ? จะบอกว่าประโยชน์ที่เราสามารถรับรู้เรื่องภาษากายนั้นมีมากมายจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจและรับรู้ถึงอารมณ์ ความคิดของผู้ที่เราสนทนาด้วย การวิเคราะห์ท่าทางที่ดีที่ถูกต้อง ซึ่งเราสามารถนำมาประยุกต์ปรับใช้ในการทำงาน ติดต่อธุรกิจ หรือสร้างบุคลิกภาพของเราให้ดูดีและสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้อย่างมั่นใจ

– การสังเกตภาษากายในลักษณะอาการต่างๆ
ภาษากายที่จะแสดงออกมาเมื่อ โกหก เช่น การเอามือปิดปากหรือยิ้วปิดปากทันที,การนำมือมาถูหรือแตะจมูกรวดเร็ว เพราะมีงานวิจัยพบว่า ในเวลาโกหกจะมีสารเคมีหลั่งออกมาทำให้จมูกมีอาการพองขึ้น และมีอาการระคายเคือง,การถูตา หรือบางคนจะไม่ใช้มือถูตาแต่จะกรอกตาหรือมองไปทางอื่นแทน,การดึงคอเสื้อหรือปกเสื้อ เพราะบริเวณลำคอ จะมีความดันโลหิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เหงื่อออกบริเวณลำคอ และเกิดปฎิกิริยาดังกล่าวขึ้น,ไม่สบตาผู้สนทนาหลีกลี่ยงไม่มองตาระหว่างพูดคุยกันและมักจะกระพริบตาถี่ๆ เนื่องจากมีความรู้สึกกดดันนั้นเอง

– ภาษากายที่จะแสดงออกมาเมื่อ เครียด เช่น การกัดเล็บมือ,การกัดริมฝีปากหรือเม้มปาก,ยืนกระสับกระส่ายหรือลุกลี้ลุกลน,มือสั่น,ม้วนผมเล่นบ่อยๆ รวมถึงกระพริบตาบ่อยๆ

– ภาษากายที่จะแสดงออกมาเมื่อ มีความสนใจ เช่น การจ้องตา,การเบิกตากว้าง,นั่งตัวยืดตรง

– ภาษากายที่จะแสดงออกมาเมื่อ กลัว เช่น การหลุบตาลงต่ำ กระพริบตาเร็วและถี่

รวมถึงการแสดงท่าท่างต่างๆออกมา ก็สามารถบ่งบอกอารมณ์และความรู้สึกได้เช่นกัน
– การนั่งไขว้ขา หรือนั่งไขว่ห้าง เป็นสัญญาณที่สื่อถึงการกีดขวางไม่ว่าจะทางจิตใจ อารมณ์ หรือร่างกายจากฝ่ายตรงข้าม และท่าทางนี้ยังหมายถึงการเบื่อหรือการหมดความอดทนได้อีกด้วย

– การเอามือเท้าเอว หมายถึง การแสดงความพร้อมในการรับมือสถานการณ์และยังหมายถึงท่าทางที่แสดงถึงความก้าวร้าวและไม่เข้าใจได้อีกด้วย

– การนั่งค้อมตัวไปข้างหน้า หมายถึง การไม่สนใจ การไม่มีสมาธิ แต่การยืดตัวตรง หมายถึงการตั้งใจ การสนใจ

– การนั่งแยกขากว้าง ๆ หมายถึง รู้สึกปลอดภัย ผ่อนคลาย และสบายใจ

– การหันฝ่ามือออกด้านนอก หมายถึง การปฏิเสธ

วิธีการพัฒนาภาษากายของเราให้ดูดียิ่งขึ้น

– เริ่มต้นจากการสังเกตท่าทางของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการสนทนา ท่าทางการยืน การนั่ง การเดิน เพราะจะทำให้คนอื่นที่สังเกตท่าทางของเราเกิดความเข้าใจผิดได้
– การสบตา การสบตา มองตา จะทำให้ทุกคนรับรู้ถึงความรู้สึก ยิ่งการสบตาในที่ประชุมหรือการนำเสนอต่างๆ จะทำให้เพิ่มการเข้าถึงและเป็นการแสดงออกถึงความตั้งใจอีกด้วย
– การใช้โทนเสียง การคุมโทนเสียงสำคัญพอๆกับการวางท่าทางกิริยา เพราะส่งผลต่อความเข้าใจของผู้ฟัง เช่น ไม่ตะคอก พูดเสียงดัง และ ไม่พูดเบาจนฟังไม่เข้าใจ
– การวางมือ การวางมือของเราในท่าทางต่างๆ เช่น การซ่อนมือไว้ข้างหลังจะแสดงถึงความไม่มั่นใจ รวมถึงการแกว่งไปแกว่งมา นอกจากจะทำให้บุคลิกภาพไม่ดีแล้วยังทำให้ดูเหมือนไม่ตั้งใจอีกด้วย

ภาษากายที่ควรหลีกเลี่ยงในขณะพูดคุย

– การเล่นหัวแม่มือ หมายถึง การไม่มีสมาธิและจิตใจกำลังคิดเรื่องอื่นอยู่ ไม่ตั้งใจในการพูดคุย
– การเคาะโต๊ะ หมายถึง แสดงถึงไม่มีความเกรงใจผู้สนทนาและเบื่อหน่ายในการพุดคุย
– การชี้นิ้ว หมายถึงเป็นการแสดงแง่ลบ ก้าวร้าว และไม่ให้เกียรติผู้สนทนา
– การกอดอก หมายถึงรู้สึกกลัว ประหม่า ไม่เปิดใจ และแสดงถึงความเย่อหยิ่ง ไม่มีความอ่อนน้อม
– การแกะเกาสิ่งต่างๆ หมายถึงแสดงถึงความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นใจ และเสียบุคลิก

Cr. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

#รู้ไว้ใช่ว่า_ธรรมชาติ #รู้ไว้ใช่ว่า #ความรู้รอบตัว
รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่าMonday, November 18th, 2024 at 1:12pm
นาฬิกาชีวิต +!

นาฬิกาชีวภาพของคนทำงานเป็นวงจรและใช้ระยะเวลา 24 ชั่วโมงเช่นกัน โดยมี 2 ช่วง คือ ช่วงมืด กับช่วงสว่าง

สำหรับช่วงสว่าง แสงจะกระตุ้นตัวรับแสง ซึ่งอยู่ที่เรตินา(จอตา) กับที่เส้นใยประสาท
ส่วนช่วงมืด(กลางคืน) สมองจะหลั่งเมลาโทนิน(melatonin) มากระตุ้นและสัญญาณผ่านระบบประสาทและฮอร์โมนไปควบคุมการทำงานของอวัยวะ และต่อมต่างๆ เพื่อให้สภาวะร่างกายดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับวงจรของวันในธรรมชาติ ซึ่งได้แก่ อุณหภูมิของร่างกาย, ความดันเลือด, การเต้นของหัวใจ และวงจรการหลับ-ตื่น

เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญต่อร่างกายมาก โดยชักนำให้เกิดการนอนหลับ ปรับการทำงานของนาฬิกาชีวภาพ ช่วยชะลอความแก่ และป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง

แต่เมลาโทนินจะถูกหลั่งออกมาในช่วงกลางคืนเท่านั้น เนื่องจากถูกยับยั้งโดยแสง แม้แสงจะมีความเข้มต่ำเพียง 0.1 ลักซ์(เทียบได้กับแสงในคืนพระจันทร์เต็มดวง) ก็ส่งผลให้ร่างกายหลั่งเมลาโทนินน้อยลงได้

ปัจจัยที่ทำให้นาฬิกาชีวภาพทำงานผิดปกติ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิต (เช่น การนอนไม่เป็นเวลา นอนดึก) ความชรา และโรคบางชนิด เช่น อัลไซเมอร์ มะเร็ง พาร์คินสัน โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า เป็นต้น เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นเมลาโทนินจะถูกหลั่งออกมาน้อยลง ส่งผลให้นาฬิกาชีวภาพทำงานผิดปกติ คนชราจึงมีอาการต่างๆ เช่น นอนไม่ค่อยหลับ ใช้ระยะเวลาให้เริ่มหลับนาน ระยะเวลานอนหลับสั้นลง นอนหลับไม่ลึก และเข้านอนเร็ว ทั้งนี้เป็นเพราะตัวรับแสงและตัวรับสัญญาณอื่นๆ ในร่างกายเสื่อมสภาพลง


ดังนั้น ในขณะนอนหลับจึงไม่ควรเปิดไฟทิ้งไว้ เพราะมีผลไปยับยั้งการหลั่งเมลาโทนิน และไม่ควรรนอนหลับในช่วงเย็นเพราะจะทำให้ช่วงเวลาเข้านอนต้องเลื่อนออกไป

ความสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะ(ระบบ)ของร่างกายกับช่วงเวลาในวงจรของวัน

เวลา 3.00 – 5.00 น. เป็นช่วงเวลาของปอด เพื่อให้ระบบหายใจได้ทำงานได้เต็มที่ และเซลล์ต่างๆ ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะที่สมอง สมองที่ได้รับออกซิเจนน้อยหรือไม่เพียงพอจะมีผลความจำของคนเราเสื่อมลงได้

และช่วง 4.00 – 5.00 น เป็นช่วงที่อุณหภูมิของร่างกายลดลงต่ำสุด ร่างกายควรได้รับความอบอุ่น หลีกเลี่ยงสภาวะอากาศเย็น ช่วงนี้จึงเหมาะต่อการตื่นนอนเพื่อรับอากาศบริสุทธิ์และออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้ปอดทำงานดีขึ้น สำหรับคนที่ระบบหายใจหรือปอดมีปัญหา หายใจติดขัด ไอ จาม มีน้ำมูก โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบต้องระวังสุขภาพ เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่อาการกำเริบได้ง่าย

เวลา 5.00 – 7.00 น. เป็นช่วงเวลาของลำไส้ใหญ่ เพื่อขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย และมีการหลั่ง cortisol เพื่อช่วยให้ร่างกายกระปรี่กระเปร่า ช่วงนี้จึงควรดื่มน้ำเพื่อกระตุ้นระบบขับถ่าย และตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไปจนถึงช่วงหัวค่ำ ความดันเลือดในร่างกายจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น สำหรับคนที่มีสุขภาพอ่อนแอ จะมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก หายใจติดขัด โดยเฉพาะคนที่เป็นโรค หืดควรระวังอาการกำเริบ

เวลา 7.00 – 9.00 น. เป็นช่วงเวลาของกระเพาะอาหาร เนื่องจากร่างกายต้องการพลังงาน ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารมื้อเช้า สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคไมเกรน ภูมิแพ้ ไขข้ออักเสบรูมาทอยด์ ช่วงเวลานี้ควรระวังอาการกำเริบได้

เวลา 9.00 – 11.00 น. เป็นช่วงเวลาของม้ามและตับอ่อน โดยม้ามทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย กำจัดเม็ดเลือดแดงที่เสื่อมสภาพ ส่วนตับอ่อนจะผลิตเอนไซม์มาช่วยย่อยอาหารที่ลำไส้เล็ก ร่างกายช่วงนี้จะมีความตื่นตัวมาก จึงเป็นช่วงที่เหมาะต่อการ ทำงาน/ทำกิจกรรม

เวลา 11.00 – 13.00 น. เป็นช่วงเวลาของหัวใจ ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดและสารอาหารไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ช่วงนี้ระดับความดันเลือดในร่างกายยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ดัง นั้นคนที่หัวใจผิดปกติ ช่วงนี้จะมีเหงื่อออกมากและรู้สึกร้อน อบอ้าว

เวลา 13.00 – 15.00 น. เป็นช่วงเวลาของลำไส้เล็ก ทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมอาหาร หากมื้อกลางวันไม่รับประทานอาหารหรือรับประทานอาหารไม่เพียงพอ ช่วงนี้จะรู้สึกหิวและทรมาน

เวลา 15.00 – 17.00 น. เป็นช่วงเวลาของกระเพาะ ปัสสาวะ ซึ่งทำหน้าที่เก็บน้ำกรองจากไต โดยช่วง 17.00 น. เป็นช่วงที่หลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อในร่างกายมีความแข็งแรง จึงเหมาะต่อการออกกำลังกาย

เวลา 17.00 – 19.00 น. เป็นช่วงเวลาของไต เพื่อกรองของเสียออกจากเลือดและรักษาสมดุลในร่างกาย ช่วง 18.30 น. ระดับความดันเลือดจะเพิ่มขึ้นสูงสุด และ ช่วงนี้จึงควรดื่มน้ำสะอาด (ไม่ควรดื่มน้ำเย็น) และไม่ควรนอนหลับในช่วงนี้ เพราะจะทำให้นอนไม่หลับในช่วงกลางคืน

เวลา 19.00 – 21.00 น. เป็นช่วงเวลาของเยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของหัวใจ และเป็นช่วงของระบบหมุนเวียนโลหิต โดยช่วง 19.00 น. อุณหภูมิในร่างกายจะเพิ่มขึ้นสูงสุด ผู้ป่วยเป็นโรคผิวหนัง ช่วงนี้ควรระวังอาการกำเริบ

เวลา 21.00 – 23.00 น. เป็นช่วง เวลาของระบบทั้ง 3 (triple heater) ได้แก่ ระบบหายใจ ส่งผลต่อร่างกายช่วงบน(หัวใจ-ปอด) ระบบย่อยอาหารมีผลต่อช่วงกลางลำตัว(กระเพาะ อาหาร ม้าม ตับ) และระบบขับถ่ายมีผลต่อร่างกายช่วงล่าง(ไต กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้เล็ก) เป็นช่วงที่ร่างกายปรับสมดุลความร้อนและเป็นช่วงที่อุณหภูมิในร่างกายจะค่อยๆ ลดลง การขับถ่ายอุจจาระจะหยุดพักชั่วคราว ร่างกายจะเริ่มหลั่งเมลาโทนิน ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ควรนอนหลับพักผ่อน

เวลา 23.00 – 1.00 น. เป็นช่วงเวลาของถุงน้ำดี เพื่อเก็บน้ำดีที่ได้จากตับและส่งน้ำดีมาช่วยย่อยไขมันที่ลำไส้เล็ก ถุงน้ำดีและตับ จึงเป็นอวัยวะที่ทำงานเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กันอย่างมาก

เวลา 1.00 – 3.00 น. ช่วงเวลาของตับ เพื่อกำจัดสารพิษในร่างกาย ลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยนำมาสังเคราะห์และเก็บสะสมในรูปไกลโคเจน และสร้างน้ำดีมาเก็บไว้ที่ถุงน้ำดี ช่วงนี้ควรเป็น ช่วงที่หลับสนิทเพื่อให้เลือดไหลเวียนมาที่ตับได้ดี เนื่องจากเวลา 2.00 น ร่างกายจะหลั่งเมลาโทนินได้สูงสุด การนอนไม่หลับ เครียด ได้รับสารพิษ หรือรับประทานอาหารหวานจัด จะส่งปัญหาถึงตับ สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจ ช่วงนี้อาจทำให้อาการกำเริบและหัวใจล้มเหลวได้

ทีนี้ลองพิจารณาพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเราสิว่า สอดคล้องกับตารางเวลาของนาฬิกาชีวิตหรือไม่? เพราะโรคบางโรค อาจมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา

Cr. โรงพยาบาลแม่ออน

#รู้ไว้ใช่ว่า_สุขภาพ #รู้ไว้ใช่ว่า #ความรู้รอบตัว
รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่าSaturday, November 16th, 2024 at 11:28am
ประโยชน์ 9 ข้อ ต่อร่างกาย เมื่อเรารักการฟังเพลง +

1. ทำให้ใจแข็งแรง มีงานวิจัยค้นพบว่า เวลาที่ร่างกายได้ฟังเพลง เลือดจะไหลเวียนได้ง่ายขึ้น จะช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจให้ช้าลง ความดันเลือดต่ำ ลดระดับของฮอร์โมนที่ทำให้เครียด และเพิ่มระดับเซโรโทนินและเอนโดฟินในเลือด

2. ทำให้อารมณ์ดี ดนตรีหรือเสียงเพลงนั้น จะทำให้สมองผลิตโดพามิน การเพิ่มขึ้นของโดพามินจะช่วยให้ลดระดับความรู้สึกวิตกกังวล หรือความซึมเศร้าได้ เพลงจะช่วยให้กระบวนการนี้เกิดขึ้นโดยตรงต่อการตอบสนองของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความรู้สึก

3. ทำให้เครียดน้อยลง มีงานวิจัยพบว่า การฟังเพลงจะช่วยให้อาการเครียดทุเลาลงด้วย

4. ทำให้ดีขึ้นจากความซึมเศร้า เวลาที่เราซึมเศร้ามากๆ จะทำให้ความรู้สึกตกลงไปในหลุมแห่งห้วงความเศร้า เพลงจะสามารถนำเราขึ้นมาจากหลุมนั้นได้ ไม่แพ้การออกกำลังกาย

5. ทำให้ความจำดีขึ้น แม้ว่าจะไมมีหนทางการรักษาของโรคอัลไซเมอร์หรือภาวะสมองเสื่อม แต่ว่าการรักษาด้วยเสียงเพลงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถบรรเทาอาการของโรคเหล่านี้ การใช้เพลงจะช่วยทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย ซึ่งมันจะช่วยปรับปรุงเรื่องอารมณ์ และการสื่อสารได้ด้วย

6. ทำให้จัดการความเจ็บปวดได้ นอกจากเพลงจะช่วยลดระดับความเครียดได้ ยังช่วยให้สามารถจัดการกับความเจ็บปวดได้อีกด้วย

7. ทำให้ลดความเจ็บปวด สามารถช่วยลดระดับความเจ็บปวดลงได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ

8. ทำให้ทานอาหารได้น้อยลง การเปิดเพลงคลอไประหว่างมื้ออาหาร จะทำให้คนทานอาหารได้น้อยลง

9. ทำให้ออกกำลังกายได้มากขึ้น การฟังเพลงระหว่างออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มความสามารถของร่ายกายในการใช้แรง อีกทั้งยังช่วยให้สามารถออกกำลังกายผ่านช่วงที่ต้องใช้พลังงานเยอะๆ ได้ดี เพราะเสียงเพลงทำให้ร่างกายมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นนั้นเอง

Cr. สำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 ขอนแก่น

#รู้ไว้ใช่ว่า_สุขภาพ #รู้ไว้ใช่ว่า #ความรู้รอบตัว
รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่าFriday, November 15th, 2024 at 12:09pm
ฝนตกช่วยลดฝุ่น PM2.5 ในอากาศหรือไม่?

เพื่อให้เห็นภาพ งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ดำเนินการในประเทศจีน ชี้ให้เห็นว่า การตกของฝนนั้นมีผลทำให้ความเข้มข้นของฝุ่นละอองลดลงไม่มากนัก ในช่วงที่มีฝนตกหนักที่สุด ฝนจะช่วยลดความเข้มข้นของฝุ่นขนาดเล็กลงได้เพียงร้อยละ 8.7 ส่วนฝนที่ตกลงมาในระดับน้อยถึงปานกลาง มีผลต่อการลดความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 เกือบจะเป็นศูนย์

เมื่อพิจารณาถึงฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่ การตกของฝนจะมีผลช่วยลดฝุ่นขนาดใหญ่ลงได้มากขึ้น จากกราฟแสดงถึงผลของการลดลงของฝุ่นละอองขนาดต่างๆ ตามลักษณะการตกของฝน สีเทาแทนฝุ่นละอองทุกขนาด สีฟ้าแทนฝุ่นละอองขนาดใหญ่ และสีแดงแทนฝุ่นละอองขนาดเล็กถึงเล็กมาก

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยข้างต้นเป็นตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ละพื้นที่นั้นมีลักษณะการตกของฝนและสัดส่วน ของฝุ่นละอองขนาดต่างๆ ในบรรยากาศเมื่อเทียบกับฝุ่น PM2.5 แตกต่างกันไป

ที่ผ่านมา มีความพยายามใช้ฝนเทียมเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ แต่ไม่เป็นผล การชี้แจงข้อมูลจากผู้แทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องระบุว่า ระดับการตกของฝนที่จะช่วยลดฝุ่นขนาดเล็กได้ ต้องเป็นฝนระดับตกหนัก แต่ฝนเทียมที่ตกในเขตกรุงเทพฯ หรือพื้นที่ต่างๆ เป็นเพียงระดับปานกลาง ซึ่งแทบจะไม่ช่วยให้ฝุ่น PM2.5 ลดลงได้เลย

Cr. taragraphies.org

#รู้ไว้ใช่ว่า_ธรรมชาติ #รู้ไว้ใช่ว่า #ความรู้รอบตัว